ถนนชายโขงเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย (ดูภาพด้านล่าง)
ุ
“เชียงคาน” อำเภอเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงซึ่งเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวผู้รักความสงบเงียบ เรียบง่ายและความงดงามของประเพณีวัฒนธรรมครั้งก่อนเก่า ณ ถนนชายโขงสายสั้นๆ ความยาวไม่เกิน 3 กม.ริมน้ำ อ.เชียงคานแห่งนี้ ผู้คนซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวเมืองสานะคาม อาณาจักรล้านช้าง ยังคงรักษารูปแบบวิถีชีวิตอันเนิบช้าหากแต่ว่าเปี่ยมไปด้วยไมตรีเอาไว้อยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย จนกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดผู้คนต่างถิ่นซึ่งเหน็ดเหนื่อยจากรูปแบบชีวิตอันเร่งรีบและตึงเครียดให้เข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศอันเงียบสงบของ อำเภอเล็กๆ ในจังหวัดเลยแห่งนี้
เมื่อเริ่มต้นช่วงเช้าวันใหม่ชาวเมืองเชียงคานผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาจะตื่นมานึ่งข้าวเหนียวร้อนๆ เตรียมไว้สำหรับการ “ตักบาตรข้าวเหนียว” ที่จะมีขึ้นในเวลาประมาณ 06.00 น. ของทุกๆวัน ประเพณีการตักบาตรข้าวเหนียวนี้เป็นประเพณีซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยรุ่น ปู่ ย่า ตา ทวด คล้ายคลึงกับประเพณีการตักบาตรข้าวเหนียวที่หลวงพระบางโดยชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวร้อนๆ ที่นึ่งเสร็จใหม่ๆ มาแบ่งใส่ภาชนะซึ่งอาจจะเป็นกระติ๊บหรือขันเงินตามแต่ความสะดวกของแต่ละบ้านแล้วออกมายืนรอเวลาพระสงฆ์ออกบิณฑบาตในช่วงใกล้รุ่ง ยามเมื่อแสงทองเริ่มฉายสาดส่องบนฟากฟ้าเหล่าอาคันตุกะต่างเมืองซึ่งมาใช้เวลาพักผ่อนช่วงสั้นๆ ณ อ.เชียงคานแห่งนี้ก็จะได้พบกับภาพอันน่าประทับใจของขบวนพระสงฆ์ที่เดินแถวเรียงเดี่ยวออกมาบิณฑบาตด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย ชาวบ้านซึ่งเตรียมตัวอยู่แล้วก็จะรีบควักข้าวเหนียวในภาชนะขึ้นมาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดพอดีคำใส่ลงในบาตรพระอย่างรวดเร็ว แล้วพระสงฆ์ก็จะปิดบาตรออกเดินตามแถวต่อไปทันทีโดยไม่มีการสวดมนต์ให้พรยืดยาวกันแต่อย่างใด ใช้เวลาในการตักบาตรข้าวเหนียวสำหรับพระสงฆ์แต่ละรูปไม่เกิน 10 วินาที
ส่วนสำรับกับข้าวคาวหวานชนิดอื่นๆนอกเหนือไปจากข้าวเหนียวนั้นจะมีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งนำไปถวายหรือไปช่วยกันทำกับข้าวถวายที่วัดอีกครั้งหนึ่ง (ประเพณีการตักบาตรข้าวเหนียวนี้จะไม่มีการใช้กับข้าวใส่บาตรแต่อย่างใด จะใส่แต่เพียงข้าวเหนียวล้วนๆครับ) สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากลองตักบาตรข้าวเหนียวดูบ้างต้องสอบถามกับโรงแรม/เกสต์เฮ้าส์/โฮมสเตย์ที่ท่านเลือกพัก ส่วนใหญ่จะมีการจัดชุดตักบาตรข้าวเหนียวให้ตามความต้องการอยู่แล้ว
|
ริมน้ำโขงแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีพชาวไทย และเพื่อนบ้านของเรามาช้านาน |
|
ทุกชีวิตต่างต้องดิ้นรนออกหาอาหารให้ตนเองและครอบครัวมีชีวิตรอด |
|
ตักบาตรข้าวเหนียวกันอย่างรวดเร็ว เรียบร้อย และสวยงาม |
หลังจากตักบาตรกันเสร็จเรียบร้อย ให้ลองเดินไปที่ริมแม่น้ำโขงดูจะพบกับแพริมน้ำและชาวบ้านบางส่วนที่พายเรือเอื่อยๆ ออกมาจับกุ้งจับปลาหาหอยในยามเช้า หากคุณมีโอกาสได้มาเยือนริมฝั่งน้ำนี้ในช่วงอรุณรุ่งของฤดูฝน – ฤดูหนาวแล้วล่ะก็บางครั้งอาจได้เห็นสายหมอกลอยต่ำล้อเล่นคลอเคลียกับยอดไม้ชายคาบ้านอยู่รำไร ณ ที่นี้โลกดูเหมือนจะค่อยๆหมุนไปช้าๆ ราวกับว่าร่องรอยของอดีตกาลยังไม่ผ่านพ้นไปไกลสักเท่าไหร่ ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมของเรา (www.thongteaw.com) เดินปล่อยอารมณ์ผ่อนคลายไปเรื่อยๆ บนทางเท้าซึ่งทอดยาวขนานเคียงคู่ไปกับลำน้ำโขง บ้านเรือน ณ ถนนชายโขงแห่งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรือนไม้เก่าสองชั้นที่สร้างมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด บางบ้านก็ตากเปลือกมะนาวหรือพริกไว้บนกระจาดหน้าบ้านเพื่อทำเป็นของแห้งเก็บไว้ใช้ปรุงอาหาร บางบ้านก็เลี้ยงนกเขาหลายตัวไว้ภายในกรงซึ่งแขวนกับคานไม้ บางทีคุณก็อาจพบกับคุณยายนั่งส่งยิ้มมาให้จากแคร่ไม้ไผ่เก่าๆ เป็นบรรยากาศที่ชวนให้รำลึกถึงความงดงามของวันวานในห้วงเวลาซึ่งผู้คนยังมากล้นด้วยไมตรีและรู้จักที่จะมีความสุขความพึงพอใจไปกับสิ่งที่ตนเป็น
ในช่วงสายร้านรวงต่างๆ ก็เริ่มเปิดประตูออกต้อนรับผู้มาเยือนทั้งจากแดนใกล้และแดนไกล แม้ว่าร้านค้าต่างๆ บนถนนชายโขง อ.เชียงคานแห่งนี้จะไม่ได้มีมากมายหลากหลายร้านจนดูละลานตาเหมือนอย่างร้านค้าใน “ตลาดน้ำอัมพวา” จ.สมุทรสงคราม หรือ “ตลาดร้อยปีสามชุก” จ.สุพรรณบุรีก็ตาม แต่ก็เปี่ยมด้วยมนต์เสน่ห์ของยุคสมัยเก่าอย่างเต็มที่อาทิเช่น “ร้านนิยมไทย” ซึ่งจำหน่ายผ้าฝ้ายทอมือสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ณ ร้านนิยมไทยแห่งนี้คุณสามารถขอเข้าไปชมกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายทอมือได้อย่างใกล้ชิด “เฮือนหลวงพระบาง” โฮมสเตย์ที่ออกมาตั้งลังถึงนึ่งซาลาเปาปุยฝ้ายอยู่ริมถนน สำหรับคนที่อยากซดกาแฟรสชาติดีต้องลองไปที่ “สุวรรณรามาคาเฟ่” ส่วนของฝากเก๋ๆ จากเชียงคานนั้นมีอยู่มากมายหลายร้านให้เลือกซื้อหาไม่ว่าจะเป็น “สุขสำรวย” , “สะบายดีเชียงคาน” , “รักเลย ณ เชียงคาน” ,ฯลฯ เสียดายแค่ว่าวันธรรมดา (จันทร์ – ศุกร์) ที่ไม่ใช่วันเสาร์ – อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์นั้นร้านค้าบางร้านจะไม่ได้เปิดให้บริการเนื่องจากไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนสักเท่าไหร่นัก นอกเหนือไปจากการแวะเวียน ชม ชิม ตามร้านค้าต่างๆบนถนนชายโขง
อ.เชียงคานแห่งนี้แล้วใครที่ชอบเที่ยววัดลองเช่าจักรยานถีบไปสักการะพระพุทธรูปไม้จำหลักสมัยล้านช้างที่สันนิษฐานว่ามีอายุราว พ.ศ. 24 – 25 ณ “วัดศรีคุณเมือง” ก็คงจะอิ่มอกอิ่มใจได้บุญกันไม่น้อย
|
ร้านนิยมไทย แหล่งประดิษฐ์ จำหน่ายผ้าห่มนวมทำมือ ของฝากที่สร้างความอบอุ่นให้กับหัวใจ
(อุ่นจริง ทีมงานของเราซื้อมาใช้แล้ว คอนเฟริม์) บนถนนชายโขง |
|
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เชียงคาน จะยังคงรักษาวิถีชีวิตของชุมชนไว้ได้ตราบนานเท่านาน |
|
บนถนนชายโขงที่เงียบสงบ ในตอนเช้ากับซาลาเปาอุ่นสักลูกสองลูก แค่นี้ก็เป็นสุขแล้ว |
|
ยานพาหนะของนักท่องเที่ยว ที่จะพาท่านไปซอกซอนทุกซอกทุกมุม ในชุมชนชายโขงเชียงคานแห่งนี้ |
ยามเมื่อถึงเวลาเย็นย่ำค่ำสนธยาร้านค้าบางส่วนก็เริ่มปิดตัวลงคงเหลือแต่เพียงบรรดาร้านอาหารและเกสต์เฮ้าส์ต่างๆที่ยังเปิดไฟประดับหลากสีเชื้อเชิญลูกค้าให้เข้ามาใช้จ่ายภายในร้านของตน มีบางร้านที่ตกแต่งเป็นลักษณะร้านอาหารกึ่งผับเปิดเพลงเสียงดังแหวกหวีดขึ้นมาในขณะที่แสงของดวงดาราเริ่มทอประกายสดใสอยู่บนฟ้าสีเทาหม่น บ้างก็อาจได้ยินเสียงเครื่องยนต์จากมอเตอร์ไซค์ของบรรดาวัยรุ่นพื้นถิ่นคำรามก้องแผดเสียงลากยาวไปตามแนวถนนชายโขงด้วยความคึกคะนอง สิ่งที่เกิดขึ้นยามเมื่อแสงทองลาลับฟากฟ้าและความมืดมิดย่างเยื้องกรายเข้ามานี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเชียงคานอาจจะกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงจากชุมชนซึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยความเอื้ออาทร รอยยิ้มและไมตรีไปสู่สังคมธุรกิจท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยแสงสี สุรา ความบันเทิงและการกอบโกยอันเกินสมควร อีกทั้งลูกหลานในชุมชนก็เริ่มหลงลืมจิตวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ซึ่งเคยใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สมถะ รู้จักเกรงใจ ให้เกียรติและมีมิตรภาพต่อผู้อื่นจนเป็นมนต์เสน่ห์สำคัญที่ดึงดูดให้อาคันตุกะต่างเมืองเดินทางมาเยี่ยมเยือนถนนชายโขงแห่งนี้
พวกเราได้แต่เก็บความสงสัยเอาไว้ในใจว่าอีกนานแค่ไหนที่เชียงคานจะสามารถรักษาเอกลักษณ์อันงดงามของชุมชนให้คงอยู่สืบไป หรือในท้ายที่สุดแล้วเมืองซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยความทรงจำจากอดีตกาลแห่งนี้จะแปรเปลี่ยนสภาพกลายไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันครื้นเครงคึกคักแต่ปราศจากจิตวิญญาณกันแน่
ก่อนจะลาจากถนนชายโขงเส้นนี้ในเช้าวันถัดไป ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมของเราแอบอธิษฐานลึกๆอยู่ในใจ หวังให้เชียงคานยังคงสามารถรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันงดงาม เรียบง่าย เปี่ยมล้นไปด้วยรอยยิ้มและไมตรีเอาไว้ได้อีกตราบนานเท่านานชั่วลูกชั่วหลานสืบต่อไป
การเดินทาง :
จาก อ.เมือง จ.เลย ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 มุ่งหน้าไปทาง อ.เชียงคาน เมื่อใกล้ถึง
อ.เชียงคานจะพบกับสามแยกไฟแดงให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211 (เชียงคาน – ปากชม) ตรงไปเรื่อยๆจะพบซอยเล็กๆด้านซ้ายมือหลายซอยซึ่งสามารถทะลุไปต่อกับถนนชายโขงได้ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอยไหนก็ได้เพื่อเข้าสู่ถนนชายโขง
หมายเหตุ : เก็บข้อมูลถนนชายโขง อ.เชียงคาน เมื่อ ต.ค. 2552
|